รมช.สาธารณสุข เผยตรวจพบสารฟอกขาวตกค้างในผักแห้งที่นิยมประกอบอาหาร โดย ดอกไม้จีน ปริมาณสารสูงสุด รองลงมาคือ เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว แนะล้างดอกไม้จีน จะลดการตกค้างได้ดีกว่าแช่น้ำ ส่วนเห็ดหูหนูขาวให้ลวกน้ำร้อน 2 นาทีก่อนปรุงอาหาร ช่วยลดสารดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 90 ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากการบริโภคผัก และผลไม้ในช่วงเทศกาลกินเจ
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเทศกาลกินเจ ประชาชนจำนวนมากหันมาบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น โดยมีการนำ ผักแห้ง จำพวก เก๋ากี้ ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม มาใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังและตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงตรวจพบ การตกค้างสารฟอกขาวซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในผักแห้งดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาวิธีการ ลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเม็ดเก๋ากี้และเห็ดหูหนูขาว ซึ่งวิธีลดปริมาณซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ในเม็ดเก๋ากี้สามารถทำได้โดยการล้างเก๋ากี้ด้วยน้ำประปาในอัตราส่วนของเก๋ากี้ ต่อน้ำ 1 : 200 โดยน้ำหนัก (เก๋ากี้ 10 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตร) จำนวน 3 ครั้ง แล้วลวกด้วยน้ำร้อนในอัตราส่วนเดียวกัน จากนั้นนำไปปรุงโดยการต้มกับน้ำอัตราส่วน 1:50 โดยน้ำหนัก(เก๋ากี้ 10 กรัมต่อน้ำครึ่งลิตร) พบว่ามีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อเก๋ากี้ลดลงร้อยละ 98 เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างเก๋ากี้ที่ไม่ได้ล้างก่อนต้ม
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาระยะเวลาการเก็บเก๋ากี้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 เดือน พบว่าปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเก๋ากี้ยังคงเท่าเดิม ส่วนการลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเห็ดหูหนูขาวและดอกไม้จีนนั้นทำได้โดยนำเห็ดหูหนูมาล้างน้ำแล้วลวกในน้ำเดือด 2 นาทีก่อนนำไปปรุงอาหาร ส่วนดอกไม้จีนให้นำมาล้าง น้ำสะอาดจะสามารถ ลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ร้อยละ 90
รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับผักและผลไม้สดนั้นก่อนการนำมาปรุงอาหารหรือรับประทานโดยตรง ควรล้างทำความสะอาดผัก ผลไม้ให้สะอาด โดยผู้บริโภคสามารถลดปริมาณการตกค้างของสารเคมีกำจัดแมลงได้ร้อยละ 90 - 95 โดยใช้ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำอุ่น 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้นาน 15 นาที หรือลดลงร้อยละ 27 - 38 ด้วยการแช่ในน้ำส้มสายชู 10 เปอร์เซ็นต์ หรือแช่ในน้ำเกลือ (น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะละลายในน้ำ 4 ลิตร) นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ ร้อยละ 29-38 หากเป็นผักให้ลอกหรือปอกเปลือกแล้วแช่ในน้ำสะอาด 5-10 นาที หลังจากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหรือล้าง ด้วยน้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำนานอย่างน้อย 2 นาทีก็ช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้เช่นกัน
ด้าน น.พ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur dioxide) เป็นสารเคมีตัวหนึ่งในกลุ่มซัลไฟต์หรือสารฟอกขาวที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาล ยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ รา บักเตรี อย่างไรก็ตามหากร่างกายได้รับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในปริมาณที่มากเกินกว่าค่าความปลอดภัย อาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือผู้ที่แพ้สารนี้ คือ ทำให้หายใจขัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อุจจาระร่วง เป็นลมพิษ ความดันโลหิตต่ำ อาจช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดค่าการบริโภคซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในแต่ละวันที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)