งานวิจัย

งานวิจัย เรื่อง รูปแบบองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

งานวิจัย เรื่อง รูปแบบองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(The Model of Independent Organization for Consumer Protection in Local Government)

ผู้วิจัยหลัก : สมชาย  ละอองพันธุ์

อาจารย์ที่ปรึกษาวิจัย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร

โครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนจากทุนผู้ช่วยวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2553,2554  สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ  ม.สงขลานครินทร์(สจรส.มอ.)และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภค (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(ความเห็นและข้อเสนอแนะที่ปรากฏในเอกสารนี้เป็นของผู้วิจัย มิใช่ความเห็นของสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้)

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องรูปแบบองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบและการจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภคควรมีลักษณะอย่างไร โดยผู้วิจัยได้ศึกษาในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจและมีความพร้อมด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา จำนวน 3 แห่ง ด้วยกัน ประกอบด้วย  เทศบาลตำบลปริก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม และองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู  ซึ่งผลการวิจัยจะนำเสนอเป็นชุดความรู้สำคัญเพื่อการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  โดย 1) การศึกษาบริบทของพื้นที่เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภค  ทุนทางสังคมและบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดรูปแบบองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 2) การจัดกิจกรรมเพื่อการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 3 กิจกรรม คือ 2.1) การจัดสมัชชาผู้บริโภคฉลาดซื้อ 2.2 ) การลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.3)  การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านคุ้มครองผู้บริโภค 3) การพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านการจัดสนทนากลุ่มและการสังเคราะห์รูปแบบ บทเรียนและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการพัฒนารูปแบบองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

  1. ประชาชนผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงประสบปัญหาคุ้มครองผู้บริโภค แต่ขาดกลไกหรือระบบด้านคุ้มครองผู้บริโภค ส่งผลให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร แม้จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามคำสั่งถ่ายโอนภารกิจงานคุ้มครองผู้บริโภคแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  2. กระบวนการสมัชชาผู้บริโภค เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในส่วนภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และภาควิชาการ ร่วมกันรับรู้ ร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะด้านคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาคุ้มครองผู้บริโภค

  3. บันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคของจังหวัดสงขลา เป็นเครื่องมือสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยมีการจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสามแห่ง ใน 3 รูปแบบ คือ 1) ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) ศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานแบบ กึ่งอิสระ 3) ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานในลักษณะองค์การอิสระ โดย 3.1) คณะทำงานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมีที่มาจากภาคประชาชนจากทุกกลุ่มในชุมชน ด้วยจิตอาสา 3.2 )บทบาทและหน้าที่ ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดยอาศัยทุนทางสังคมในการขับเคลื่อนงานภายใต้กรอบภารกิจซึ่งได้รับถ่ายโอนงานจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สร้างกลไกด้านคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ ประกอบด้วย กลไกร้องเรียน ไกล่เกลี่ย  กลไกพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค แกนนำ  กลไกการชดเชยค่าเสียหาย เป็นต้น  3.3)งบประมาณ เน้นการพึ่งตนเองอาศัยเงินจากกองทุนสุขภาพระดับพื้นที่และกองทุนสัจจะออมทรัพย์ในพื้นที่ และควรต้องมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน

  4. ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคในระยะต่อไป ควรเน้น 1) ส่งเสริมมีส่วนร่วมของกลุ่ม ชมรมและเครือข่ายผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่ 2)ควรมีแผนงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการทำงานร่วมและประสานกับหน่วยงานรัฐ 3) การสร้างองค์ความรู้จากการสรุปบทเรียน ถอดประสบการณ์ที่สำเร็จและประสบการณ์ที่เป็นปัญหา4) ข้อจำกัดเรื่องการรับรองสถานะจากหน่วยงานรัฐและข้อจำกัดในบทบาทบางอย่าง

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง